รู้แพ้… รู้ชนะ… รู้อภัย

ในตัวของคนเรานั้น สิ่งดีๆก็มีเยอะ ไม่ใช่จะมีแต่สิ่งที่ไม่ดีอย่างที่เข้าใจ สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสิ่งที่เป็นคุณสมบัติประจำตัวมาตั้งแต่เกิดก็คือ ความมีน้ำใจของการมีน้ำใจเป็นนักกีฬา ที่รู้จักแพ้ รู้จักชนะ และรู้จักอภัย นี่คือคุณสมบัติของนักกีฬาทุกคน เวลาที่นักกีฬาลงแข่งขัน เขาจะสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย สู้สุดฝีมือสุดกำลัง เพื่อคำว่า “ชัยชนะ” หากเขาประสบชัยชนะ ก็ต้องดีอกดีใจเป็นธรรมดา แต่ก็จะไม่ไปทับถมข่มคนที่แพ้ ส่วนคนที่แพ้ก็ยอมรับความพ่ายแพ้ด้วยดี เพราะต่างก็ได้สู้กันจนสุดฝีมือแล้ว เมื่อแพ้ก็คือแพ้ มีการแข่งขันก็ต้องมีทั้งคนที่ชนะและที่แพ้ หลังจากนั้นก็ต้องฝึกฝนพัฒนาฝีมือกันต่อไป เพื่อจะได้ชัยชนะในครั้งต่อไป ส่วนในการแข่งขันหากจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้างก็ต้องถือว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่การแข่งขันย่อมจะมีบ้างเป็นธรรมดา จบก็คือจบ ไม่ได้มาถือโทษโกรธเคืองอะไรกันอีก ต่างคนก็ต่างให้อภัยกัน แล้วก็เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน นี่คือน้ำใจนักกีฬาทุกคน ที่ต้องใช้เป็นวิถีทางของชีวิตที่พูดกันอยู่เสมอว่า “ชีวิตคือการต่อสู้” ดังนั้นการรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย จึงเป็นกฎกติกาของนักสู้บนเวทีชีวิตที่ต้องมีน้ำใจต่อกันและกัน

การแสดงน้ำใจของความเป็นนักกีฬานั้นยังส่งผลไปสู่ด้านจิตใจของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย ผู้ชนะก็ภูมิใจในความสำเร็จของตนที่ได้มาจากการมุมานะพยายามด้วยความอดทนยากลำบาก พอพบความสำเร็จก็มีความสุขใจและไม่มีการแสดงออกที่จะเยาะเย้ยผู้แพ้ แต่ตรงกันข้ามกลับแสดงความเสียใจเห็นใจและให้กำลังใจแก่ผู้แพ้ หากทำอย่างนี้ก็ยังจะได้ใจจากคู่แข่งอีกด้วย

สังคมโลกวันนี้ เราต้องช่วยกันสร้างความมีน้ำใจ อย่างคนที่รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เพราะจะช่วยให้ปัญหายุ่งยากสารพัดที่มีอยู่ในทุกวงการให้ลดน้อยลงไป ความร้อนแรงที่ต่างความคิดและต่างความเข้าใจที่มีอยู่นั้นจะลดน้อยลงไปได้ ก็ขึ้นอยู่กับความมีน้ำใจต่อกันเช่น นักกีฬาที่เขาปฏิบัติกัน หากเราทำได้ปัญหาของความแตกต่างทั้งหลายก็เบาบางลง จนกระทั่งหายไปจากสังคมโลกได้ในไม่ช้าไม่นาน

เริ่มที่ตัวของเราก่อน ด้วยการยอมถ่อมใจ รับกติกาของความมีน้ำใจ เช่น นักกีฬา แพ้ก็คือแพ้ ไม่ใช่ตีโพยตีพายโทษโน่นโทษนี่  ยอมรับด้วยจิตใจที่สงบ พร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่บกพร่อง เพื่อสู้ใหม่ในครั้งต่อไป คิดเสมอว่า ในโลกนี้ไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะอย่างถาวร คนแพ้ในวันนี้ก็อาจจะชนะในวันหน้า คนชนะในวันนี้ก็อาจจะแพ้ในวันหน้าได้เช่นกัน สลับกันไม่มีใครเสียเปรียบ ส่วนสิ่งที่กระทบกันบ้าง ไม่ว่าจะหนักเบาอย่างไร ก็อภัยให้กัน ความรู้สึกดีๆ ก็จะตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย

“จงผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกัน และถ้าแม้ว่าผู้ใดมีเรื่องราวต่อกัน ก็จงยกโทษให้กันและกัน องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดยกโทษให้ท่านฉันใด ท่านจงกระทำอย่างนั้นเหมือนกัน” (โคโลสี 3:13)

 โดย : อาจารย์อำนวย  เรืองชาญ

นักจัดรายการวิทยุ “เพื่อคุณกำลังใจ”

องค์การก้าวไปสู่ความสว่าง